ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักการแพทย์
514 ถนนหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร 10100
โทร 0 2622 5047 โทรสาร 0 2224 2969

Description: D:\พี่จ๋า(พรเพ็ญ)\Bangkok Health Fair\Bangkok Health Fair 2010\BHF 2010 - 1 ต.ค. 53 - 2\BHFอื่นๆ\logo ทั้งชีวิต...เราดูแล\Logo ทั้งชีวิต เราดูแล.jpg

กทม. ซ้อมแผนรับมือโควิด-19 พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม

กทม. เตรียมพร้อมซ้อมแผนรับมือโควิดระลอก 2 รูปแบบการฝึกซ้อมแผนชนิดบนโต๊ะ (Tabletop Exercise) ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยในพื้นที่ที่มีการควบคุมโดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุด ในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2564 เวลา 09.00 – 14.00 น. ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 อาคารสำนักการแพทย์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ได้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าเดิม มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีการกระจายไปหลายจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งการซ้อมแผนเพื่อเตรียมความพร้อมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้บุคลากรได้มีทักษะและความพร้อมในการปฏิบัติงาน เป็นการทดสอบแนวทางการปฏิบัติ ให้ประสานสอดคล้องกันอย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังทำให้ทราบถึงจุดบกพร่อง และช่องว่างในการปฏิบัติงานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยที่การปฏิบัติงานจริงนั้นบุคลากรต้องดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องนั้น ถือว่าเป็นกำลังสำคัญของกรุงเทพมหานครในการทำหน้าที่ตอบโต้กับการระบาด การรักษาพยาบาล การสอบสวนโรค ซึ่งต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเกิดความเหนื่อยล้าจากการปฏิบัติงาน ซึ่งการจัดประชุมซ้อมแผนในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่สำนักการแพทย์ ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักอนามัยและสำนักงานเขต ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อรักษา ป้องกันและควบคุมโรคในกรุงเทพมหานคร
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า การฝึกซ้อมเป็นการทดสอบการตอบสนองต่อสถานการณ์สมมติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีรูปแบบการฝึกซ้อมแผนชนิดบนโต๊ะ (Tabletop Exercise) ของส่วนราชการในสังกัดสำนักการแพทย์ กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น ฝึกซ้อมด้านการสั่งการ การอำนวยการ การฝึกตามสถานการณ์หลัก สถานการณ์เสริม การประเมินผล การสอบสวนโรค ลงพื้นที่ ระบบส่งต่อ การบริหารจัดการภายในโรงพยาบาล การประชาสัมพันธ์ ธุรการ ระบบไอที ขั้นตอนการอำนวยความสะดวกของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งกำหนดข้อการฝึกไว้ที่การตอบสนองต่อสถานการณ์ตามแผนของหน่วยงาน/จังหวัด การจัดสรรทรัพยากรในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การแบ่งมอบหน้าที่ตามความรับผิดชอบ และการร้องขอการสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติม ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลในสังกัดฯ ก็จะซ้อมภาพรวมด้วยกันและไปซ้อมในระดับโรงพยาบาลต่อ หลังจากนั้นจึงจะกำหนดจัดทำแผนเตรียมพร้อมรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการบริหารความต่อเนื่องของสถานพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ต่อไป
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติม การเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง จึงเตรียมความพร้อมพื้นที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน จำนวน 438 เตียง สนามกีฬาบางกอกอารีนา จำนวน 350 เตียง สนามกีฬาเวสน์ 1 จำนวน 150 เตียง และสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน จำนวน 130 เตียง ทั้งนี้สถานการณ์จำนวนเตียงของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อรองรับมีอยู่ 2,926 เตียง จำแนกเป็น โรงเรียนแพทย์ 377 เตียง กรมการแพทย์ 285 เตียง กรมควบคุมโรค 93 เตียง กรมสุขภาพจิต 68 เตียง สำนักการแพทย์ กทม. 164 เตียง กระทรวงกลาโหม 172 เตียง โรงพยาบาลตำรวจ 41 เตียง และโรงพยาบาลเอกชน 1,726 เตียง ประกอบด้วย ห้อง ICU ความดันลบและห้องแยกเดี่ยวความดันลบรวมทั้งหอผู้ป่วยรวมสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังมีการบริหารจัดการด้านยาเวชภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ จัดหาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาเพื่อรองรับ สำหรับการบริหารจัดการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีสำนักการแพทย์ ร่วมกับ สำนักอนามัย ในการสอบสวนและคัดกรองโรค หากพบผู้ป่วยสงสัยจะประสานศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ 1669) ดำเนินการจัดการด้านการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ต้องสงสัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ขอความร่วมมือผู้ป่วย หากป่วย มีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ อย่าปกปิดข้อมูล หรือปกปิดประวัติเสี่ยง เพื่อทีมแพทย์จะได้วินิจฉัยรักษา และเตรียมความพร้อมได้ทันท่วงที

รูปภาพและบรรยากาศในงาน